วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เกษตรกรในพื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ ปลูกมันเทศ ในพื้นที่ 25 ไร่ มีรายได้สูงถึง 1 ล้านบาท ต่อ 1 ฤดูกาลผลิตในระยะเวลา 3 เดือน


วันนี้ (10 มิถุนายน 2557) นายสมนึก เหมณี เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายเจือ สิริพร เกษตรอำเภอ นักวิชาการการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานส่งเสริมการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง อาทิ ฟักทอง มันเทศ และถั่วลิสง ในพื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์

[คลิ้กที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย]
  


จัดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งนำร่องในพื้นที่ตำบลควนพัง ปี 2557 เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 2, 5 และ 8 ของตำบลควนพัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรมีการยกร่องปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ หลังจากปี 2554 เป็นต้นมาเกิด
 



อุทกภัย ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันเสียหายและตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้สินและไม่มีกำลังทรัพย์ในการดำเนินการปลูกปาล์มน้ำมันต่อไปได้ ทางเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ได้สำรวจพื้นที่พบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มีการทับถมของอินทรียวัตถุมากมาย และมีน้ำขังเพียงพอในพื้นที่ร่องสวนปาล์มน้ำมัน น่าจะมีความเหมาะสมในการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งบางชนิด ที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย ดังนั้นจึงได้มีการแนะนำส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งขึ้น ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม



เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พื้นที่ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะมันเทศ ฟักทอง แตงโมง ถั่วลิสง และพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งผลดีของดินในพื้นที่ คือ หลังจากน้ำท่วมจะทำให้ดินมีสภาพดี และจะตัดวงจรศัตรูพืชที่อยู่ในดิน การปลูกพืชจึงไม่มีปัญหา





เรื่องโรคและแมลง ทำให้สามารถผลิตพืชที่มีความปลอดภัยจากสารพิษ จึงทำให้ต้นทุนการปลูกพืชน้อยลง และจากสภาพดินจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันพืชที่ปลูกเป็นพืชที่มีอายุสั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว ทำให้เกษตรกรมีรายได้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรผู้ปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ตำบลควนพัง มีจำนวน 262 ราย ปลูกแตงโมง 1,200 ไร่ ปลูกฟังทอง 250 ไร่ พริกขึ้หนูขาว 300 ไร่ มันเทศ 500 ไร่ถั่วฝักยาว 150 ไร่ ถั่วลิสง 200 ไร่ จากการผันวิกฤติให้เป็นโอกาสบนพื้นที่ 20,000 ไร่ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี



นายเอกลักษณ์ สุขลี่ เกษตรกรผู้ปลูกมันเทศ อยู่บ้านเลขที่ 178/2 หมู่ 8 ตำบลควนพัง เล่าให้ฟังว่า ตนและครอบครัว เดิมปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ลุ่มเมื่อเกิดอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานทำให้ต้นปาล์มน้ำมันเสียหายและตาย จึงหันมาปลูกมันเทศพันธุ์แครอท และพันโกปี้บ้าน แทนประมาณ 10 ปี บนพื้นที่ 25 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการปลูกหลังจากน้ำลด



ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากดินได้ปุ๋ยการการทับถมจากน้ำท่วม และตัดวงจรศัตรูพืชที่อยู่ในดินไป ไม่ต้องใช้สารเคมี และปุ๋ย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยราคามันเทศขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท บางฤดูการผลิตจะมีราคาสูงถึง 10 กว่าบาท ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว 1 ฤดูกาลผลิต (ระยะเวลา 3 เดือน) บนเนื้อที่ 25 ไร้ จะมีรายได้ 1 ล้านบาท


ด้าน นายบุญโชค ศรีสุรางค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลควนพัง อยากให้ภาคส่วนราชการเข้าไปดูแลในเรื่องของระบบน้ำ เนื่องจากขณะนี้หากเกิดภาวะฝนทิ้งแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้น้ำในร่องน้ำเป็นน้ำเปรี้ยว หากมีการบริหารจัดการน้ำเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น
*********************
พรรณี กลสามัญ /ข่าว
ชชาดล เจริญพงษ์ / ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช // 10 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------
เวทีชุมชนการปลูกพืชฤดูแล้งตำบลควนพังhttp://mrcfnakhonsri.blogspot.com/2014/05/mrcf_12.html
ชาญวิทย์-นครศรีฯ : นำมาเผยแพร่ใน Webblog นี้


ไม่มีความคิดเห็น: