วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.สงขลา และสำนักงานเกษตรอำเภอพิปูน ประชุมอบรมตรวจระบบและตรวจแปลงภายในสำหรับรองรับ GAP แบบกลุ่ม (ทุเรียน) ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงไม้ผลตำบลควนกลาง หมู่ที่ 1 ต.ควนกลาง อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช




 
เมื่อวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2557 นางสาวศิริกุล ศรีแสงจันทร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษและนายจตุรงค์ พรหมวิจิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.สงขลา (สสข.5 สงขลา) ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอพิปูน ซึ่งนำโดย นายวินัย วรรธนะนาถ เกษตรอำเภอพิปูนและคณะ ได้มีการอบรมเกษตรกร เรื่องระบบควบคุมภายในสำหรับรองรับ GAP แบบกลุ่ม (ทุเรียน) ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงไม้ผลตำบลควนกลาง ตามโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน      ปี 2557 ณ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลควนกลาง หมู่ที่ 1 ต.ควนกลาง อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช  มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 20 ราย
 
 

ในครั้งนี้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบแปลงภายในและฝึกการนำเอกสารแบบฟอร์มการตรวจสอบแปลงภายในไปทดลองปฏิบัติจริง และในวันที่ 19 สิงหาคม 2557 จะมีการประชุมตรวจติดตามการฝึกปฏิบัติการตรวจสอบแปลงภายในของผู้ตรวจสอบแปลงภายในและระบบควบคุมภายในรวมถึงประชุมเพื่อตรวจติดตามและประเมินความพร้อมระบบควบคุมภายในอีกครั้ง ก่อนส่งสมัครขอการตรวจรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP แบบกลุ่ม จากหน่วยตรวจรับรองภายนอก

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงไม้ผลตำบลควนกลาง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 จากการรวมตัวของเกษตรกรจำนวน 30 คนที่ปลูกไม้ผล ในตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน ปัจจุบันสมาชิกทั้งหมด 32 คน  สมาชิกมีการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน ปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนเป็นหลัก และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงไม้ผลตำบลควนกลาง ปัจจุบันกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน 300,000 บาท พื้นที่ปลูกทุเรียนของสมาชิกกลุ่มทั้งหมด  178  ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต  88 ไร่ ปริมาณผลผลิต  1,607 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1.9 ตัน สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แปลงเดี่ยวแล้ว จำนวน 10 ราย และมีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม จำนวน 20 ราย

การขอการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP แบบกลุ่ม เป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถยื่นขอการรับรองฟาร์มมาตรฐานได้โดยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการยื่นขอรับรองแบบรายเดี่ยว ก่อนที่จะยื่นขอรับรองสมาชิกทุกรายในกลุ่มต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐาน และหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกลุ่ม ที่สำคัญต้องมีการจัดทำระบบควบคุมภายใน ที่พัฒนาขึ้นโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ(IFOAM) ซึ่งสมาชิกจะต้องตรวจสอบกันเองภายในกลุ่มก่อนจะมีการตรวจสอบรับรองจริงจากหน่วยตรวจ ซึ่งคาดว่าจากการขอการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP แบบกลุ่ม ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงไม้ผลตำบลควนกลางนี้ จะเป็นอีกแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอพิปูนที่ประสบปัญหาทางด้านราคา ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ที่ได้อาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เกษตรกรและผู้ส่งออกเอง ก่อนจะเข้าสู่ตลาดการแข่งขันในการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในอนาคต
 สุพัตรา รัตนะ : ภาพ
อรทัย  บุญเคน : ข่าว

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เยี่ยมครับ พิปูน

ชาญวิทย์

Unknown กล่าวว่า...

จอแบบฟอร์ม​GAP